ทีเอ็มบีธนชาต ส่งมาตรการ “พักทรัพย์พักหนี้” และ “สินเชื่อฟื้นฟู” เสริม “ตั้งหลัก” ช่วยลูกค้าธุรกิจฝ่าโควิด หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว
ทีเอ็มบีธนชาต ส่งมาตรการ “พักทรัพย์พักหนี้” และ “สินเชื่อฟื้นฟู” เสริม “ตั้งหลัก”
ช่วยลูกค้าธุรกิจฝ่าโควิด หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว
กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. 2564 – ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) พร้อมสนับสนุนนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐ เดินหน้าออก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการพักทรัพย์พักหนี้และสินเชื่อฟื้นฟู เสริมโครงการ “ตั้งหลัก” ของธนาคารเพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจในระยะยาว
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และขอชื่นชมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่ช่วงโควิดรอบแรก ประกอบกับโครงการ “ตั้งหลัก” ที่ทีเอ็มบีธนชาต นำมาช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ตั้งแต่แรกเช่นกัน ทำให้เราสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ถึง 750,000 รายหลังจากโควิดรอบแรก และพบว่ามาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้ากว่า 90% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ หรือเกือบปกติ
“เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันพัฒนามาตรการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งทีเอ็มบีธนชาตเอง พร้อมสนับสนุนมาตรการของ ธปท. เสริมกับโครงการ “ตั้งหลัก” ที่ธนาคารนำออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือธุรกิจรายใหญ่ เพื่อให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” นายปิติ กล่าว
มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) เป็นมาตรการที่เปิดให้ลูกค้าสามารถนำทรัพย์มาพักไว้กับธนาคาร แต่ยังสามารถเช่ากลับไปบริหารเพื่อสร้างรายได้ มาตรการนี้จะช่วยตัดภาระทางการเงินในปัจจุบันและให้ลูกค้าสามารถซื้อคืนหลังจากสถานการณ์เป็นปกติ ซึ่งจะเหมาะกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่แนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวอาจจะใช้เวลาอีกนาน จึงต้องการแผนช่วยเหลือในระยะยาว การนำโรงแรมมาพักไว้กับธนาคารก่อน แต่สามารถเช่ากลับไปบริหารจัดการเพื่อหารายได้ จะช่วยลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย โรงแรมสามารถนำรายได้ที่เข้ามา ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นก่อน เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน คงการจ้างงาน โดยไม่ต้องกังวลกับภาระที่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยคืนธนาคาร ซึ่งมาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ในระยะยาว 3-5 ปีอย่างแท้จริง โดยทีเอ็มบีธนชาต มีความมุ่งหวังจะเข้าไปช่วยเหลือให้ลูกค้าธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว และไม่ได้มีเจตนาที่จะไปยึดทรัพย์เพื่อนำมาเป็นของธนาคารแต่อย่างใด ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับลูกค้าจำนวนหนึ่งและใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว โดยคาดว่าจะให้ความช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ให้ผ่านวิกฤตและสามารถฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้นี้
มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (Special Loan) เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากซอฟต์โลนในรอบที่แล้ว แต่เปิดกว้างขึ้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงปริมาณสินเชื่อได้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังดำเนินต่อได้และต้องการสภาพคล่อง ด้วยมาตรการนี้ลูกค้าสามารถจ่ายดอกเบี้ยในราคาต่ำแต่สามารถผ่อนชำระในระยะเวลานานขึ้น ซึ่งธนาคารมีการวางแผนล่วงหน้าและดำเนินการเชิงรุก เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วและเหมาะสมที่สุด โดยตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไปแล้วกว่า 2,000 ราย รวมเป็นวงเงินกว่า 3,600 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะปล่อยสินเชื่อจากมาตรการนี้ให้กับผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 มาตรการนี้ ไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่จะเหมาะกับทุกธุรกิจ ทางทีเอ็มบีธนชาตเอง มีโครงการ “ตั้งหลัก” ซึ่งประกอบไปด้วยความช่วยเหลือหลายประเภท ที่จะเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป ทั้งลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับลูกค้าธุรกิจนั้น เนื่องจากไม่ใช่ทุกมาตรการจะเหมาะกับลูกค้าทุกราย จึงแนะนำให้เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารแนะนำมาตรการที่เหมาะสม สำหรับแก้ปัญหาของธุรกิจได้ตรงจุดและไม่เกิดภาระในระยะยาว
“ผมหวังว่า มาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. ที่ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และโครงการ “ตั้งหลัก” ของทีเอ็มบีธนชาตที่ออกมา จะเป็นแรงเสริมที่จะช่วยให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิดครั้งนี้ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งธนาคารยินดีและพร้อมช่วยเหลือยืนหยัดไปกับลูกค้าของเรา เพื่อฝ่าฟันวิกฤตไปด้วยกัน” นายปิติ กล่าวทิ้งท้าย
ลูกค้าที่สนใจมาตรการดังกล่าว สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ โครงการ “ตั้งหลัก” ในเว็บไซต์ของธนาคาร www.ttbbank.com/th/tang-luk หรือ สอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจของท่าน หรือ ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต โทร. 0 2643 7000 วันจันทร์ถึงวันเสาร์ 08.00 – 20.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร
* * * * * *
#ทีเอ็มบีและธนชาตเปลี่ยนเป็นทีทีบี #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น
#TMBThanachart #ttb #MakeREALChange
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น